แต่เพื่อให้รู้ลึกกันมากขึ้น วันนี้เราจะพาคุณไปเจาะลึกถึงประโยชน์ของมะเขือเปราะกันต่อ อ่านจบแล้ว คุณจะต้องอยากเอาเจ้ามะเขือเปราะมาติดครัวแน่นอน
- มะเขือเปราะช่วยลดน้ำหนัก : ไม่ใช่แค่มะเขือเปราะหรอกนะคะที่มีคุณสมบัติที่ว่านี้ เพราะมะเขือเกือบทุกชนิดนั้นจัดว่าเป็นอาหารควรค่าแก่การนำมาบรรจุไว้ในเมนูควบคุมน้ำหนักของผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก เนื่องจากเป็นผักที่มีปริมาณแคลอรี่ไม่มาก และยังมีไฟเบอร์ที่ช่วยให้อิ่มนาน ทำให้ความอยากอาหารน้อยลง
- มะเขือเปราะลดน้ำตาลในเลือด : นอกจากไฟเบอร์ที่มีเยอะและช่วยเรื่องท้องผูกแล้ว มีงานวิจัยที่พบว่า มะเขือเปราะออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน โดยช่วยเสริมการใช้งานกลูโคสอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มะเขือเปราะจึงเป็นอาหารที่เหมาะกับคนป่วยเบาหวานหรือคนที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในแคว้นโอริสสา ประเทศอินเดีย ที่ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดน้ำของผลมะเขือเปราะเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ผลก็คือ ลดได้จริงๆ คนอินเดียก็เลยนิยมกินน้ำต้มผลมะเขือเปราะเพื่อรักษาโรคเบาหวานกันมาก
- มะเขือเปราะลดไข้แก้ไอ : อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ เพราะอย่างที่เราเคยบอกไปในบทความ “รู้จัก “มะเขือเปราะ” พืชสวนครัวคู่คนไทย” ไปแล้วว่า ที่อินเดียมีการนำมะเขือเปราะทั้งต้นมาสกัดเอาสารอัลคาลอยด์ไปใช้ในการรักษาอาการไข้ตัวร้อนแก้ไอ ดังนั้นหากกำลังมีไข้หรือไออยู่ การกินมะเขือเปราะก็ช่วยให้อาการทุเลาได้ ซึ่งหากอยากจะลองแบบที่ทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดียทำในการลดอาการไอ ก็ให้นำมะเขือเปราะไปตากแห้งแล้วบดเป็นผง นำไปผสมกับน้ำผึ้งจิบเวลาไอ
- มะเขือเปราะป้องกันโลหิตจาง : ธาตุเหล็กในมะเขือเปราะคือพระเอกในเรื่องนี้ เพราะมะเขือเปราะมีธาตุเหล็กอยู่มากพอสมควร แถมยังมีทองแดงที่สามารถกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงอยู่สูง พอสารอาหาร 2 ชนิดมาเจอกันก็จะช่วยกันทำให้เม็ดเลือดแดงกระจายตัวได้อย่างเต็มที่ และช่วยกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบินด้วย
- มะเขือเปราะลดคอเลสเตอรอลและป้องกันโรคหัวใจ : ใครที่ตรวจร่างกายมาแล้ว คุณหมอบอกว่า คอเลสเตอรอลสูงหันมากินมะเขือเปราะกันดูนะคะ เพราะมีการวิจัยมาแล้วพบว่า มะเขือเปราะสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในร่างกายลงได้ แถมเจ้าสารนาโซลินก็ยังทำงานร่วมกันกับไฟโตนิวเทรียนท์อย่างเข้าขา จึงช่วยให้ไม่มีไขมันเกาะตามผนังของเส้นเลือด นั่นแปลว่าเลือดจะไหลเวียนในร่างกายของคุณได้สะดวกขึ้น ซึ่งส่งผลไปถึงการป้องกันโรคหัวใจได้อีกทาง
- มะเขือเปราะช่วยป้องกันท้องผูก : เหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้มะเขือเปราะมีคุณสมบัตินี้คือ ความที่มีไฟเบอร์อยู่เป็นจำนวนมาก จึงไปทำหน้าที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารและการขับถ่ายดีขึ้น เรื่องของเปอร์เซนต์การเกิดอาการท้องผูกจึงน้อยมาก นอกจากนี้มะเขือเปราะยังช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารได้ด้วย จึงมีส่วนในการรักษาอาการกรดไหลย้อน
- มะเขือเปราะบำรุงกระดูก : เพราะในมะเขือเปราะมีแคลเซียม โพแทสเซียม และธาตุเหล็กค่อนข้างสูง จึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก และช่วยลดความเสี่ยงกระดูกพรุน และกระดูกเสื่อม
- มะเขือเปราะบำรุงผม : เรื่องความงามก็พึ่งพามะเขือเปราะได้เช่นกัน เพราะพืชชนิดนี้จัดว่าเป็นอาหารช่วยบำรุงเส้นผมให้เงางามได้ เนื่องจากในมะเขือเปราะมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ค่อนข้างมาก จึงช่วยบำรุงเส้นผมไม่ให้แห้งกระด้าง แถมน้ำจากมะเขือเปราะยังช่วยให้รากผมแข็งแรงเพราะมีเอนไซม์ที่ช่วยกระตุ้นเซลล์บนหนังศีรษะ ทำให้ผมงอกและยาวเร็วขึ้น ซึ่งวิธีการก็คือ นำมาหั่นเป็นซีกๆ แล้วถูหนังศีรษะทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
- มะเขือเปราะป้องกันความจำเสื่อม : ใครที่กลัวว่าแก่ตัวไปจะจำนั่นนี่ไม่ได้ ต้องกินมะเขือเปราะตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ เพราะเปลือกของมะเขือเปราะมีไฟโตนิวเทรียนท์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เยื่อหุ้มเซลล์ถูกทำลาย และช่วยให้การส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์ต่าง ๆ ไหลลื่นขึ้น จึงช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้
- มะเขือเปราะลดความเสี่ยงมะเร็ง : มีงานวิจัยพบว่าในมะเขือเปราะมีสารไกลโคอัลคาลอยด์โซลามาร์จีน โซลาโซนีน และอัลคาลอยด์โซลาโซดีนที่ปราศจากโมเลกุลน้ำตาล ซึ่งการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสารเหล่านี้พบว่า สารทุกตัวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการก่อของเซลล์มะเร็งตับและลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีกรดโคโรจินิกที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ แถมยังอุดมไปด้วยสารฟีนอลและวิตามินซี จึงช่วยให้ภูมิต้านทานแข็งแรง กระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดขาวให้มากำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย จึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้
ทั้งนี้ในข้อดีมากมาย ก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยบางโรคที่หากกินมากเกินไปก็เป็นอันตรายได้ นั่นคือ ผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์ เพราะหากกินติดต่อกันนานๆ อาจทำให้มีอาการปวดขา เพราะในมะเขือเปราะมีสารโซลานิน ซึ่งเป็นสารที่ถ้าร่างกายเราสะสมไว้หลายๆ วัน จะไปรวมตัวกับไขมันชนิดไม่ดี (LDL) แล้วเกาะอยู่ตามข้อต่อ ทำให้เราปวดขา ปวดข้อ หรือเป็นตะคริวได้
ข้อมูล :